038 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๖

การศึกษาทางธรรม มันมีจุดสำคัญ ที่เราควรจะรู้อยู่ ๒ จุด เท่านั้นแหละ หนึ่ง จุดหยุด สอง จุดทำงาน เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจ อย่างแม่นเป้า ว่าเราจะหยุดอะไร เราจะทำงานอะไร อย่าเถรตรง พาซื่อว่า พอบอกว่า มาสอนว่าให้หยุด แล้วก็หยุดพาซื่อ ตายไปเลย เป็นคน ไม่มีบทบาทการงาน ไม่มีคุณค่า หยุดแข็งทื่อไปเลย อย่างงั้น ก็ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ธรรมะ หรือเป็นคนทำงาน ก็ทำจนไม่รู้ว่า งานใดเป็นกุศล งานใดเป็นอกุศล งานใดไม่ควรทำ อย่างไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่รู้ความจริง อย่างนั้นก็ไม่ได้เรื่อง ก็ไม่เป็นธรรมะ มันจะเป็น การผลาญพร่า และทำลาย อย่างร้ายกาจ เช่นเดียวกันกับคนหยุด

สิ่งที่เราศึกษา ๒ จุดนี้ ศึกษาให้แม่น แล้วรู้ตัวเรา เป็นแกนกลาง เรามีอะไร ที่ควรหยุด ตั้งแต่พฤติกรรมกาย การกระทำ ที่อกุศลของเรา หยุดก่อนน่ะ ไม่ว่ากาย วจี หรือ มโน ก็ต้องหยุด หยุดให้ได้ และเราก็จะต้องทำ สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ดีอยู่ เราแน่ๆชัดอยู่แล้วว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูกต้อง สมเหมาะ สมควร ไม่ได้สงสัยเลย ไม่ผิดหลักธรรม ไม่ผิดวินัย ไม่ผิดกฎ ไม่ผิดระเบียบ แล้วก็ทำให้ขยัน หมั่นเพียรอยู่

เพราะฉะนั้น ด้านการทำงานก็ดี หรือด้านการหยุดก็ดี ก็จะมีแนว ลึกซึ้งซับซ้อน หมุนรอบเชิงซ้อน เข้าไป เป็นชั้น เป็นเชิง ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น การปฏิบัติธรรมจึงทำที่ ทำดีถึงพร้อม อย่างสูงสุดอยู่ เป็นผู้ขยัน การปฏิบัติด้วยวิธีการ มรรคองค์ ๘ จะทำให้จิตใจ ได้ละกิเลส ล้างกิเลส เป็น สจิตตปริโยทปนัง ไปพร้อมๆ กันกับที่หยุด สิ่งที่เป็นกรรมการงาน ที่ควรหยุด และสร้างสรร หรือว่ารังสรรค์ให้ยิ่ง ในสิ่งที่เป็น กรรมการงาน ที่ควรกระทำให้ยิ่ง คนจึงเป็น คนประเสริฐ มีประสิทธิภาพ และมีคุณค่าสูงอยู่ ไม่ตกต่ำ ไม่เสียเวลาเลย นี้เป็นทฤษฎีของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ทำความเข้าใจกันชัดๆ เจนๆ แล้วเราจะเป็น ผู้ปฏิบัติธรรม ถูกต้อง ไม่งมงายพาซื่อ ในคำว่า หยุดก็ดี ในคำว่า ทำงาน และแม้ที่สุด ถึงกระทั่งว่า หลงงาน ยินดี ติดยึดในงาน จนกลายเป็น การทรมานตน หรือเสียหาย เกินการก็ดี

นัยต่างๆพวกนี้ ทำความเข้าใจให้แม่น บอกแล้วว่า ตัวเราเป็นตัวกลาง ทำให้เหมาะให้สม กับตัวเรา แล้วเรา ก็จะได้ประโยชน์ตน ไปพร้อมๆกับ ประโยชน์ท่าน อย่างพัฒนา สถาพร ไปตราบนานเท่านาน

สาธุ